ทุ่งใหญ่นเรศวร หลายวันหลายคืนที่ฉันตื่นในพงไพร

สวัสดีครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวของการเดินทางเข้าไปใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มาเล่าให้เพื่อนๆฟังครับ
ระยะเวลาเดินทางตั้งแต่วันที่ 21 – 27 เมษายน ที่ผ่านมานี้ จุดประสงค์หลักคือ นำแทงค์บรรจุน้ำเข้าไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ครับ

ทุ่งใหญ่นเรศวรคืออะไร พวกเราเป็นใคร แล้วทำไมต้องนำแทงค์น้ำเข้าไปมอบให้เจ้าหน้าที่ เรามาติดตามไปพร้อมๆกันเลย!

 


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ครอบคลุมพื้นที่ กว่า 2 ล้าน ไร่ ใน 3 เขตจังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก และ อุทัยธานี ได้รับการบึนทึกเป็น ผืนป่ามรดกโลก พร้อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ และ สำคัญที่สุดในประเทศไทย และ กำลังจะครบรอบ 40 ปีที่ก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นมาในปี 2558 ที่จะถึงนี้ครับ

 

ทุ่งใหญ่นเรศวร

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

 

ลักษณะของพื้นที่ป่าภายในทุ่งใหญ่ฯนั้นอุดมสมบูรณ์มากครับ เป็นป่าแบบไม่ผลัดใบ และแยกย่อยได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้น ป่าเบญจพันธุ์ ป่าไผ่ และอื่นๆอีกมากมาย

 

 

ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลประกอบกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ และเพราะความอุดมสมบูรณ์นี้เองทำให้ทุ่งใหญ่ฯกลับกลายเป็นสถานที่ที่มีเหล่านายพรานนักล่า และ กลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล พยายามจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากพื้นที่ป่าแห่งนี้

ด้วยเหตุนี้เองทางกรมอุทยานจึงจำเป็นต้องมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าวางตำแหน่งอยู่โดยรอบบริเวณทุ่งใหญ่ฯ แบ่งการดูแลออกเป็นฝั่งตะวันออก และ ตะวันตก รวมทั้งสิ้นประมาณ 32 หน่วย แต่เนื่องด้วยพื้นที่ป่ากว้างใหญ่มาก แต่ละหน่วยจึงตั้งอยู่ห่างกันพอสมควร เป็นระยะทางตั้งแต่ 10-20 กิโลเมตรครับ หากเป็นช่วงหน้าแล้งการเดินเท้าหากันระหว่างหน่วยพอจะทำได้สะดวก แต่ก็ยังต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว ปัญหาคือหากมีเรื่องเร่งด่วน หรือเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ ด้วยระยะเวลาเดินทางขนาดนี้อาจจะนานเกินไป และยิ่งถ้าเป็นหน้าฝนระยะเวลาในการเดินทางก็จะยิ่งช้าลงไปอีกมากครับ

 

trek

 

อีกปัญหาหนึ่งก็คือการขนส่งสิ่งของที่มีขนาดใหญ่และหนักเกินกว่ากำลังคนจะขนไปได้ ก็จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะเพื่อบรรทุกของเข้าไป ซึ่งการเดินทางนั้นไม่ต้องพูดถึงครับถึงจะเป็นหน้าแล้งที่ถนนแห้ง การเดินทางไปแต่ละหน่วยก็ยังต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง และในหน้าฝนกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็คูณความยากลำบากเข้าไปอีกประมาณ 10 เท่า เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า ระยะทางแค่ 12 กิโลเมตร เคยต้องใช้เวลาถึง 20 ชั่วโมงในการเดินทาง

 

car

 

ในยุคสมัยแรกที่มีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุ่งใหญ่ฯย้อนไปเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนนั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดอาจไม่ใช่เรื่องของการเดินทาง แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่ เพราะในเขตทุ่งใหญ่ฯนี้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใดๆเข้าถึง และในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะติดตั้งสัญญาณวิทยุใดๆเพื่อไว้ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

ประกอบด้วยงบประมาณจากกรมอุทยานที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้การจัดหาติดดั้งอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆนั้นแทบจะไม่มี แม้จะดำเนินการมานานแต่เขตพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าก็แทบจะไม่มีการพัฒนาขึ้นเลย เพราะลำพังแค่ค่าดูแลซ่อมแซมยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายอื่นๆก็หมดงบประมาณแล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

 


 

มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก

ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โดย พี่ริน สุริน บินนาน จุดประสงค์เพื่อช่วยดูแลผืนป่าของประเทศไทย โดยเฉพาะเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ทางมูลนิธิมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำงานได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ก่อสร้างอาคารที่พัก ห้องน้ำ ศูนย์ซ่อมรถ ติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การทำประปาภูเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตั้งศูนย์กลางสื่อสารทางวิทยุในเขตทุ่งใหญ่ฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ผ่านทางวิทยุสื่อสาร และยังติดตั้งเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมทำให้สามารถใช้โทรศัพท์ และ internet ผ่านดาวเทียมได้ ทำให้การทำงานในเขตทุ่งใหญ่ฯมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งครับ

 

logo-thungyai

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : เว็บไซต์ของมูลนิธิ

 

มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก

 

เมื่อมีการติดตั้งสัญญาณวิทยุเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วย หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่กำลังเดินทางออกลาดตระเวนก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ทำให้แจ้งเหตุฉุกเฉินหรือติดต่อขอความช่วยเหลือกันได้อย่างทันถ่วงที จุดแม่ข่ายสัญญาณหลักของการสื่อสารนั้นตั้งอยู่บนเขาที่ชื่อว่า เขาพระฤาษี เป็นจุดที่อยู่เกือบสูงสุดในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งอยู่กึ่งกลางของพื้นที่ เหมาะจะเป็นแหล่งกระจายสัญญาณ แต่ด้วยภูมิประเทศที่จำกัดประกอบกับตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ทำให้เขาพระฤาษีในช่วงหน้าแล้งนั้นเกิดสภาวะขาดน้ำ แหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดต้องเดินเท้าไปราวๆ 2-3 กิโลเมตร ทำให้ความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีแม่ข่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก

 

water

 

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทางมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกได้นำแทงค์น้ำจำนวนหนึ่งมามอบไว้ให้แล้วแต่เนื่องด้วยวัสดุที่ใช้ผลิตแทงค์น้ำในช่วงเวลานั้นยังเป็นสแตนเลสสตีลอยู่ พอผ่านระยะเวลานานเข้าตัวแทงค์จึงเกิดสนิมทำให้น้ำที่กักเก็บไว้ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อดื่มกินได้ ในโอกาสที่ครบรอบ 40 ปี ของทุ่งใหญ่ฯ ทางมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกจึงได้เตรียมโครงการปรับปรุงหลายๆอย่างเพื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และการจัดหาแทงค์น้ำชุุดใหม่ก็เป็น 1 ในโครงการที่วางแผนไว้

ตรงจุดนี้เองที่พวกเรา ใบไม้.org หรือ กลุ่มใบไม้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ครับ

 


 

ใบไม้.org (กลุ่มใบไม้)

ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์เดียวคือช่วยดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเน้นไปที่การจัดกิจกรรมและให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกในการรักธรรมชาติให้กับเด็กๆในพื้นที่ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่จะช่วยดูแลธรรมชาติของพวกเราทุกคนสืบไป

 

Logo_Final

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : เว็บไซต์ | facebook

 

ใบไม้.org

 

พวกเราได้รับผิดชอบในส่วนของการจัดระดมทุนเพื่อหาซื้อแทงค์น้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 4 ถัง รวมทั้งสิ้น 8,000 ลิตร ซึ่งคำนวณดูแล้วว่าน่าจะเพียงพอเก็บกักน้ำฝน สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้เพื่อบริโภคในช่วงที่ไม่มีฝนตกได้ และด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆพี่น้องและญาติสนิทมิตรสหายของพวกเรา ก็สามารถระดมทุนมาได้จนครบเพียงพอสำหรับซื้อแทงค์น้ำได้ 4 ถังพอดี

โดยเป็นถังขนาด 2,200 ลิตร 3 ถัง และ 2,000 ลิตร อีก 1 ถัง รวมทั้งสิ้น 8,600 ลิตร เป็นถังพลาสติกไม่เป็นสนิม และ กันตะไคร้น้ำได้ ทำให้มั่นใจว่าน้ำที่กักเก็บไว้จะสามารถใช้ดื่มกินได้อย่างแน่นอนครับ

 

pot

 

เอาล่ะตอนนี้เราก็ได้ทราบที่มาที่ไปกันเรียบร้อย ถึงเวลาออกเดินทางกันแล้วครับ การเดินทางจะเป็นยังไงมีอะไรรอพวกเราอยู่บ้าง มาติดตามไปพร้อมๆกันเลย

 


 

วันที่ 1 : มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก

พวกเราเริ่มออกเดินทางจากคนละสถานที่ แต่มีเป้าหมายอยู่ที่เดียวกันคือ มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดนัดพบของพวกเรา คณะเดินทางชุดสุดท้ายเดินทางมาถึงมูลนิธิช่วงตอนดึกแล้ว ในวันแรกจึงได้แค่พูดคุยและเตรียมงานเบื้องต้นสำหรับวันต่อไปครับ

 

2.มูลนิธิ

 

วันที่ 2 : มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก – ทุ่งใหญ่นเรศวร

กำหนดการในวันนี้คือเข้าไปเอาแทงค์น้ำที่ติดต่อไว้จากร้านในตัวอำเภอทองผาภูมิ ก่อนออกเดินทางก็เริ่มวันด้วยกาแฟสดตามธรรมเนียมครับ กลิ่นกาแฟหอมๆที่บดเองกับมือ ออกมาเป็นกาแฟดำรสชาดขมๆ แต่ก็สดชื่นเคล้าไปกับนกน้อยและแมลงที่ส่งเสียงอยู่ท่ามกลางร่มไม้ใหญ่

บรรยากาศแบบนี้คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน

 

1.มูลนิธิ

 

เนื่องจากแทงค์น้ำมีขนาดใหญ่มาก รถกระบะ 1 คัน ขนไปได้แค่เพียงถังเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังมีอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องนำเข้าไปด้วย รถของมูลนิธิจึงบรรทุกไปได้แค่ถังเดียว อีก 3 ถังที่เหลือต้องประสานงานกับทางทุ่งใหญ่ฯและผู้สนับสนุนท่านอื่นๆมาช่วยกันขนเข้าไปอีกทีครับ

 

 

เมื่ออุปกรณ์พร้อม คนพร้อม ทุกอย่างพร้อม การเดินทางก็เริ่มต้น

ด่านแรกสุดของการเดินทางคือเริ่มออกเดินทางจากตัวอำเภอทองผาภูมิ ไปสู่ปลายทางที่สำนักงานเขตทุ่งใหญ่นเรศวรครับ ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร แต่เป็นถนนลาดยางผสมถนนลูกรังบางช่วงตัดผ่านป่าขึ้นเขา บางช่วงต้องทะลุผ่านไร่สวนของชาวบ้านแถวนั้น ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือแทงค์น้ำที่เป็นพลาสติก ถึงจะรั้งเชือกไว้อย่างดีแต่ตัวแทงค์ก็จะถูกบีบรัดจนเสียรูป ประกอบกับการกระแทกจากสิ่งของอื่นๆที่บรรทุกไป ทำให้ต้องจอดรถเพื่อตรวจเช็คเป็นระยะๆ และจัดเรียงกันใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าถังจะไปถึงที่หมายปลายทาง

 

20140422_160211

 

ระหว่างทางไปก็จะมีร้านค้าของชาวบ้านเป็นระยะๆ ขายของสดอาหารแห้ง ซึ่งพวกเราต้องเตรียมเข้าไปให้พร้อมเพราะการเดินทางเข้าทุ่งใหญ่ฯ รู้วันไป แต่ไม่รู้วันกลับ หากเสบียงอาหารเหลือน้อย การใช้ชีวิตจะยิ่งลำบากขึ้น เพราะเสบียงอาหารภายในแต่ละหน่วยก็มีอย่างจำกัด ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือและปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในป่าครับ

ในที่สุดเมื่อผ่านทุกเส้นทางแล้ว ก็มาถึงสำนักงานเขตทุ่งใหญ่นเรศวรจนได้ครับ ใช้เวลาเดินทางพร้อมแวะเก็บเสบียงรายทางรวมแล้วเกือบๆ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

 

เนื่องจากเดินทางมาถึงสำนักงานเขตมืดแล้ว คืนนี้เลยต้องค้างแรมกันที่นี่ก่อนครับ ด้วยความที่เรามากับทางมูลนิธิฯ ซึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในนี้แล้วเปรียบเสมือนกับเป็นพี่น้องกัน เพราะต่างทำงานร่วมกันมาเกือบ 20 ปี พวกเราเลยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีครับ มีแม่ครัวช่วยทำอาหาร เสบียงที่เตรียมมาก็ได้เริ่มใช้งานในทันที ที่นอนก็ได้ปูพื้นนอนในบ้านพักของเจ้าหน้าที่ ผ่านคืนแรกไปอย่างสะดวกสบาย

 

20140422_195949

 

หลังหมดอาหารมื้อนี้ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนเพื่อเตรียมเดินทางในเช้าวันถัดไปครับ

 

วันที่ 3 สำนักงานเขต – หน่วยมหาราช – เขาพระฤาษี – หน่วยเซซาโว่

สำหรับการเดินทางในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญครับ เพราะเป้าหมายปลายทางภารกิจของวันนี้คือ เขาพระฤาษี สถานที่ตั้งศูนย์กลางแม่ข่ายการสื่อสารทั้งหมดในเขตทุ่งใหญ่ฯ สถานที่ที่เราจะนำแทงค์น้ำไปประจำการนั่นเอง ช่วงเช้าก่อนออกเดินทางก็ออกเดินชมธรรมชาติรอบๆสำนักงานเขตครับ มีหมอกจางๆ อากาศเย็นสบายมากครับ อุณหภูมิน่าจะราวๆ 16-18 องศา แม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนก็ตาม

 

1.ทุ่งใหญ่

2.ทุ่งใหญ่

 

สำหรับการขนส่งแทงค์น้ำที่เหลือนั้นได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน ตั้งแต่การขนส่งจากตัวอำเภอทองผาภูมิมาจนถึงที่สำนักงานเขต และขนส่งต่อไปยังเขาพระฤาษี โดยในเช้าของวันที่เราจะออกเดินทางต่อ แทงค์น้ำทั้ง 4 ใบก็ได้มารวมตัวกันที่สำนักงานเขตเรียบร้อยแล้ว

 

20140423_064237

 

ถือว่าในการเดินทางครั้งนี้คงไม่สามารถสำเร็จได้โดยง่ายหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆกลุ่มนี้ครับ เพราะการขนส่งแทงค์น้ำขึ้นไปนั้นจำเป็นต้องใช้รถ 4WD จำนวนหลายคันเพื่อให้ขนส่งได้อย่างราบรื่น อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องขนขึ้นไปพร้อมกัน หากมีรถเพียงคันเดียวคงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายวันมาก จึงต้องขอขอบคุณพี่ๆกลุ่มนี้ด้วยใจจริงครับ

 


 

กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน

เป็นกลุ่มคนอาสาที่ช่วยงานเพื่อแผ่นดินจริงๆครับ ไม่เพียงแค่ด้านอนุรักษ์ แต่รวมถึงงานอาสาทุกประเภท ทั้งช่วยก่อสร้างอาคาร ขนส่งสิ่งของสู่พื้นที่ทุรกันดาร ช่วยโครงการประปาภูเขา และอื่นๆอีกมากมาย

logo

รายละเอียดเพิ่มเติม : facebook

 

กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน

 

เช้านี้ก็ยังฝากท้องไว้กับแม่ครัวประจำสำนักงานเขต เติมพลังพร้อมออกเดินทางครับ ลืมแนะนำอีกหนึ่งเพื่อนร่วมทาง รถของมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกที่พวกเรานั่งมาก็มีชื่อนะครับ เรียกว่าเจ้า มูนไลเนอร์ พี่ริน จากมูลนิธิฯเล่าให้ฟังไว้ว่ารถทุกคันที่แกใช้จะต้องมีชื่อ เพราะอยู่ในป่าเราไม่สามารถไปด้วยตัวเราเองได้ จำเป็นต้องมียานพาหนะคู่ใจ ให้เปรียบเสมือนม้าศึกที่มีชีวิตจิตใจ ให้ความสำคัญกับมัน มันก็จะพาเราไปได้ทุกจุดหมายปลายทาง

 

20140423_092204

 

กำหนดการคร่าวๆสำหรับการเดินทางวันนี้ เป้าหมายแรกคือแวะกินข้าวเที่ยงที่ หน่วยมหาราช ครับ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงจากสำนักงานเขต ระหว่างทางจะผ่าน หน่วยทิคอง ครับ ระยะทางจากสำนักงานเขตประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นหน่วยแรกที่ทุกคนต้องผ่าน พวกเราแวะพักผ่อนซักครู่หนึ่ง ตรวจสอบแทงค์น้ำ และมัดเชือกกันใหม่อีกรอบให้แน่นหนากว่าเดิม เพราะระหว่างเดินทางเชือกก็จะค่อยๆหย่อนทีละนิดทีละหน่อย

จากนั้นจึงออกเดินทางต่อจนมาถึง หน่วยมหาราช สถานที่กินข้าวกลางวันของเรา หน่วยมหาราชนั้นชื่อเดิมคือ หน่วยซ่งไท้ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ห้วยซ่งไท้ แต่เปลี่ยนเป็นชื่อมหาราชภายหลัง และยังเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์กลางซ่อมรถภายในทุ่งใหญ่ฯด้วยครับ เพราะรถที่เข้ามาทุกคันมีโอกาสเสียได้เสมอเพราะสภาพถนน มีโอกาสต้องได้รับการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา เลยจำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่จะคอยช่วยบรรเทาอาการเสียของรถแต่ละคันได้ไม่มากก็น้อย และการพัฒนาศูนย์ซ่อมรถนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิฯกำลังดำเนินการอยู่ครับ

 

20140423_135348

 

ตรวจเช็คสภาพพร้อมกินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางต่อครับ เป้าหมายต่อไปคือยอดเขาพระฤาษี สถานที่ซึ่งแทงค์น้ำของเราจะต้องไปประจำการอยู่ ในระหว่างการเดินทางก็จะเจออุปสรรคเป็นระยะๆครับ เพราะถึงจะเป็นหน้าแล้งแต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าจึงยังคงมีน้ำซับในดิน และ ลำห้วยเป็นระยะๆ รถถ้าแรงไม่ดีพอก็จะไปต่อได้อย่างลำบาก

 

10269318_10203038550018195_7538747432097460565_o

 

สภาพแวดล้อมในป่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางช่วงอาจจะมีไฟป่า บางช่วงไม้กำลังแตกหน่อ และบางช่วงก็เกิดไม้ล้มกีดขวางเส้นทาง รถคันแรกที่ขับเข้าไปก็มีหน้าที่หลักคือคอยเคลียร์เส้นทางเผื่อรถคันหลังที่ตามมา แต่ในบางครั้งเป็นไม้ใหญ่ที่ล้มการจะเคลียร์ทางก็ทำได้ยาก บางช่วงทางทีมงานจึงจำเป็นต้องเอาแทงค์น้ำ(ที่ผูกไว้อย่างแน่นหนาจนเกินไป) ลงจากรถ ให้รถวิ่งผ่านไปก่อนแล้วจึ้งเข็นแทงค์ขึ้นภูเขาตามไปติดตั้งกันใหม่อีกรอบ

 

 

เมื่อผ่านอุปสรรคต่างๆก็จะมาถึงจุดพักผ่อนหย่อนกายที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ชื่อว่า ห้วยดงวี่ เป็นลำธารเล็กๆที่ไหลผ่านผืนป่าใหญ่ เป็นบรรยากาศที่สวยงามทีมงานเลยต้องแวะลงไปเดินชมธรรมชาติซักหน่อยครับ เอาเท้าแช่น้ำ ล้างหน้าล้างตากันพอสดชื่น

 

 

แต่ถึงจะเห็นเป็นสถานที่สวยงามในยามนี้ ในช่วงฤดูฝน ห้วยดงวี่ ถือเป็นด่านสุดโหด เพราะน้ำจะสูงท่วมเกินกว่า 1 เมตร แต่รถก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ต้องอาศัยจังหวะช่วงน้ำลดแล่นผ่านน้ำไปครับ เรียกว่าต้องวัดใจกันเลยว่าจะผ่านไปได้หรือเครื่องจะน๊อคกลางทาง

 

DSC_0465

 

เมื่อผ่านจาก ห้วยดงวี่ มาอีกซักพักหนึ่งเราก็มาถึงสถานีแม่ข่ายการสื่อสาร เขาพระฤาษี เป้าหมายประจำการแทงค์น้ำของเราครับ

 

 

ในขณะที่เดินทางมาถึงนี้ก็มีแทงค์น้ำมาประจำการรอแล้ว 1 ถัง อีก 2 ถังกำลังตามมาในวันถัดไปครับ เราจึงได้นำแทงค์น้ำที่ติดรถมา ลงประจำการรอที่นี่ก่อนแล้วขากลับค่อยแวะมาทักทายทั้ง 4 ถังพร้อมๆกันอีกทีครับ จากนั้นก็ออกเดินทางสู่หน่วยถัดไป ซึ่งจะเป็นสถานที่พักผ่อนของเราในคืนนี้ครับ นั่นคือ หน่วยเซซาโว่ เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่าลูกไม้แดง ระหว่างทางก็จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากป่าเบญจพันธุ์เป็นเขตทุ่งราบครับ วิวทิวทัศน์สวยงามจึงแวะเก็บภาพบรรยากาศเล็กน้อย

 

IMG_3729

IMG_3732

IMG_3735

 

และในที่สุดเราก็เดินทางมาถึง หน่วยเซซาโว่ สถานที่พักผ่อนของเราในคืนนี้ หลังจากกางเต็นท์ ผูกแปลกันเรียบร้อยก็กินข้าวเย็นฝีมือแม่ครัวประจำหน่วยที่นี่กัน ด้วยความเพลียจากการเดินทางเลยเข้านอนกันตั้งแต่หัวค่ำ เสร็จสิ้นภารกิจไปอีกวันครับ

 

วันที่ 4-5 หน่วยพิทักษ์ป่า เซซาโว่

เช้าวันใหม่ตื่นนอนกันอย่างสดใสก็ได้เวลาเดินออกสำรวจรอบๆหน่วยครับ เพราะเมื่อวานนี้เดินทางมาถึงช่วงค่ำแล้วเลยไม่ค่อยสังเกตเห็นอะไรมากนัก พื้นที่ของหน่วยเซซาโว่นั้นประกอบไปด้วยอาคารบ้านพักของเจ้าหน้าที่ 1 หลัง โรงครัวอีก 1 หลัง มีห้องน้ำเล็กๆแยกออกมาจากตัวอาคาร

 

IMG_3762

IMG_3751

20140424_130641

 

ภารกิจหลักของพวกเราในการจัดหาแทงค์น้ำก็ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลาที่เหลือก็เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้เข้ามาในทุ่งใหญ่นเรศวรครับ

พื้นที่ของ หน่วยเซซาโว่ นั้นจะมีห้วยตัดผ่านเรียนกว่า ห้วยเซซาโว่ เป็นแหล่งน้ำอีกแหล่งที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ที่นี่ครับ แต่ด้วยความที่ภูเขาแถวนี้เป็นเขาหินปูน น้ำในลำธารจึงไม่เหมาะจะนำมาบริโภคในทันที จำเป็นต้องกรองก่อนครับ แต่ก็เพียงพอสำหรับใช้อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟันได้

 

IMG_3979

 

ในการเดินทางครั้งนี้พวกเรามาสุดแค่ที่ หน่วยเซซาโว่ แต่ที่จริงแล้วยังมีหน่วยอื่นอีกมากมายที่อยู่ลึกเข้าไปในป่า อีกหน่วยที่สำคัญมีชื่อว่า หน่วยจะแก ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนกลางป่า ผู้คนส่วนมากจะเป็นกะเหรี่ยง และ กะหร่าง(คล้ายกะเหรี่ยงแต่ภาษาสื่อสารต่างกัน) บางส่วนก็จะได้สัญชาติไทยครับ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนชื่อว่า โรงเรียนบ้านหินตั้ง อยู่ท่ามกลางขุนเขา คุณครูที่ประจำอยู่ที่นี่ต้องทำงานด้วยใจรักอย่างมากครับ ยังคงติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ มีสัญญาณโทรศัพท์ และ internet ดาวเทียม แต่ถึงยังไงการเดินทางเข้า-ออก ก็เป็นเรื่องที่ยากมากอยู่ดี

ชาวบ้านบางส่วนใช้วิธีเดินทางโดยรถอีแต๊คครับ แต่หากเป็นหน้าฝนชาวบ้านมักจะชอบการเดินเท้ามากกว่า เพราะด้วยสภาพถนนที่เป็นดินโคลนการเดินเท้าอาจจะเร็วกว่าการขับรถ อีกทั้งยังอันตรายน้อยกว่าด้วย

 

IMG_3969

 

ในระหว่างที่มาพักอยู่ที่นี่พวกเราก็ได้มาพบกับ พี่เชน หรือ หม่อมหลวง ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าผู้มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของเมืองไทย ภายในเขตทุ่งใหญ่นี้ท่านจะไม่ชอบให้ใครเรียกว่าหม่อมครับ แต่จะให้เรียกว่า หม่องโจ ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่าคุณลุงแทนครับ พี่เชน ได้เดินทางเข้า-ออก และถ่ายภาพสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่มาแล้วหลายครั้งจึงสนิทกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและพี่รินเป็นอย่างดีพวกเราเลยได้มีโอกาสพูดคุยและขอคำแนะนำหลายๆเรื่องครับ

เรื่องหนึ่งที่ได้ข้อคิดจาก พี่เชน คือเรื่องของงานอาสาสมัครครับ พี่เชน ให้ความเห็นว่านับจากนี้งานอาสาสมัครไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องของจิตอาสาอีกต่อไป แต่ควรจะกลายเป็นงานของมืออาชีพ ที่มีการบริหารจัดการอย่างจริงจัง และตัวผู้ที่มีจิตอาสาเองนั้นก็ควรต้องสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วย โดยเฉพาะงานด้านอนุรักษ์ ที่ควรมีการศึกษาถึงแนวทางในการอนุกรักษ์อย่างจริงจัง ทำให้เป็นอาชีพ และให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่เคย ฟังมาถึงตอนนี้พวกเราก็รู้สึกมีกำลังใจครับ เพราะพวกเราเองก็คิดคล้ายๆกันถึงการผลักดันให้วงการอนุรักษ์กลายเป็นเรื่องสากล และเข้าถึงสังคมได้มากกว่าแค่การเป็นจิตอาสาครับ หวังว่าซักวันมันจะเกิดขึ้นได้จริง

 

IMG_3869

 

ในช่วงที่อยู่หน่วยเซซาโว่นั้นพวกเราไม่ได้มีภารกิจอะไรเป็นพิเศษ เวลาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการพักผ่อน และเดินสำรวจพื้นที่ป่า ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบช้าๆ และใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้นครับ

 

20140425_100009

20140425_100729

IMG_3765

IMG_3791

 

พวกเราใช้เวลาอยู่ที่นี่ถึง 3 วัน 2 คืน จึงได้ใช้เวลากับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่หน่วยนี้ค่อนข้างเยอะ ได้รับความรู้มากมายทั้งเรื่องของการลาดตระเวน และการใช้ชีวิตอยู่ในป่า เจ้าหน้าที่บางคนก็ประจำการมากว่า 10 ปี บางคนก็เพิ่งมาประจำการได้ปีกว่า ส่วนมากจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว ทุกคนสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดีครับ แต่ถึงจะคุยเล่นกันสนุกสนานพอถึงเวลาออกลาดตระเวนแล้วชีวิตทุกคนเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ต้องถือปืนและเดินเข้าไปในป่าลึก เสี่ยงภัยทั้งจากสัตว์ป่า และจากกลุ่มนายพรานที่จ้องจะเข้ามาล่าสัตว์ ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากทำให้พวกเรารู้สึกนับถือเจ้าหน้าที่ทุกคนจากใจจริงครับ ขอแสดงความนับถือไว้อีกครั้ง ณ ที่นี้

 

IMG_4042

 

วันที่ 6 เซซาโว่ – ทิคอง

ที่ หน่วยเซซาโว่ ยังมีเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งตำแหน่งที่คอยดูแลผืนป่า นั่นคือ เจ้าหมอก ฉายา หมอก สิงห์สเปรย์ แมวอ้วนประจำหน่วย ทำหน้าที่เป็นของเล่นให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ที่เดินทางมาพบเจอได้เป็นอย่างดี

 

 

ในวันสุดท้ายของพวกเราที่ หน่วยเซซาโว่ ก็เป็นวันเดียวกับ พี่เชน และเจ้าหน้าที่จะเดินทางเข้าไปตั้งแคมป์ในป่า ก่อนจะต้องแยกจากกัน ซึ่งไม่รู้จะได้เจอกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อไหร่ พวกเราจึงขอถ่ายภาพ Selfie ตามสมัยนิยม แตกต่างตรงที่บุคคลในภาพเป็นบุคคลที่พวกเรานับถือ ภาพนี้จึงเป็นภาพที่สำคัญมากสำหรับพวกเรา

 

20140425_093357

IMG_4054

 

เมื่อร่ำลากันเป็นที่เรียบร้อยพวกเราก็ได้เวลาเดินทางกลับลงจากเขาครับ ระหว่างทางได้แวะขึ้นไปบน เขาพระฤาษี อีกรอบ ซึ่ง ณ ขณะนี้แทงค์น้ำได้มาประจำการครบแล้วทั้ง 4 ถัง ก่อนจะต้องลาจากแทงค์น้ำไปพวกเราจึงต้องขอเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกซักหน่อย

 

IMG_4125

Photo

 

เสร็จแล้วจึงเดินทางกลับครับ ขณะนี้มีรถร่วมเดินทางลงมาทั้งสิ้น 4 คัน เป็นของมูลนิธิฯ 1 คัน และของกลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดินอีก 3 คัน ครับ ประเมินจากระยะเวลาเดินทางแล้วคาดว่าวันนี้คงไม่สามารถเดินทางไปถึงสำนักงานเขตได้ก่อนมืด เลยตัดสินใจไปกันแค่ หน่วยทิคอง หน่วยสุดท้ายก่อนถึงสำนักงานเขตและค้างคืนที่นั่นครับ

โชคร้ายที่ระหว่างทางรถของมูลนิธิฯเกิดเสีย เป็นปัญหาที่เครื่องยนต์ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เนื่องจากมีฝนตกช่วงก่อนที่พวกเราจะออกเดินทาง ถนนหนทางจึงเละเป็นดินโคลนรถจึงต้องทำงานหนักมาก ประกอบกับเกียร์ 4WD เสีย เลยต้องวิ่ง 2 ล้อมาตลอด เครื่องยนต์ทำงานหนักเกินไป รถอีกคันหนึ่งจึงต้องช่วยลากมาจนถึง หน่วยมหาราช เพื่อจอดรถทิ้งไว้ก่อน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยัง หน่วยทิคอง ครับ มาถึงหน่วยก็เป็นเวลา 2 ทุ่มแล้ว แม่ครัวประจำหน่วยที่นี่ก็ทำอาหารให้ทานอีกเช่นเคยครับ ที่หน่วยมีบ้านว่างอยู่ จึงสามารถเข้าไปปูพื้นนอนกันได้อย่างสบาย

 

20140426_094021

 

ภายในหน่วยทิคองนี้จะมีทางเดินป่าและด่านส่องสัตว์ครับพวกเราจึงถือโอกาสนี้เดินสำรวจธรรมชาติบริเวณนี้โดยเป็นระยะทางเดินเท้าประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ ระหว่างทางก็ได้พบอะไรมากมายครับ

 

IMG_4148

 

ดินโป่ง

คือ แอ่งดินตามธรรมชาติ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญสำหรับสัตว์กินพืชหลากหลายชนิด เราจึงมักจะเจอสัตว์ป่าในบริเวณที่มีดินโป่งอยู่

 

ดินโป่ง

 

IMG_4192

 

ไทร นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร

ไทรนั้นมีหลายประเภทและกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งผืนป่า จึงเป็นที่มาของฉายานักบุญแห่งป่า นักล่าแห่งพงไพร เนื่องจากผลของไทรนั้นเป็นอาหารของสัตว์หลากหลายชนิดในป่า อีกทั้งลำต้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ แต่ถึงกระนั้นไทรบางชนิดก็เติบโตได้จากการอาศัยต้นไม้อื่น เช่นในภาพที่ไทรกำลังเลื้อยตัวอยู่บนต้นไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่ง จนในที่สุดต้นไม้นั้นก็จะตายไป และต้นไทรก็จะเจริญงอกงาม ถือเป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์

 

ไทร นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร

 

IMG_4214

IMG_4217

 

ที่ หน่วยทิคอง นี้มีเจ้าหน้าที่ประจำการอีกตำแหน่งเช่นเดียวกับ หน่วยเซซาโว่ คือตำแหน่งแมว แมวที่นี่ชื่อ ไอใหญ่ ยังไม่มีฉายาครับ

 

IMG_4264

 

เนื่องจากรถเสียในวันนี้เราจึงต้องรอรถของกลุ่มพี่ๆคนอาสาเพื่อแผ่นดินลงมาจากเขาแล้วมารับพวกเรากลับไปยังสำนักงานเขตครับ ในช่วงบ่ายของวันนี้จึงใช้เวลาสนทนากับพี่ริน มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกได้หลายเรื่อง โดยปกติแล้วทุกครั้งที่เราได้เจอพี่รินก็จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตการทำงานในป่ามากมาย และเมื่อตอนนี้เราได้มาเห็นสถานที่จริงแล้วจึงยิ่งเข้าใจในสิ่งที่พี่รินพยายามถ่ายทอดได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งได้เห็นถึงสิ่งที่แกพยายามปลุกปั้นขึ้นมาตลอดระยะเวลา 20 ปี

สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ทุกครั้งที่ได้ฟังเรื่องราวของพี่รินก็คือ จิตวิญญาณแห่งการพิทักษ์ป่า ตลอดระยะเวลาแกทำงานโดยไม่มีเงินเดือน ทำงานโดยไม่มีใครจ่ายค่าจ้าง ทำงานแม้จะไม่มีผู้ช่วยติดตามแม้แต่คนเดียว และสิ่งต่างๆที่แกได้ทำก็ปรากฎผลให้พวกเราเห็นกันในวันนี้ เป็นอีกคนที่พวกเราขอสดุดี พี่ริน สุริน บินนาน

 

IMG_4270

 

และในช่วงเย็นพวกเราก็เดินทางกลับมาถึงสำนักงานเขตทุ่งใหญ่นเรศวร พักผ่อนที่นี่อีก 1 คืนเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับในเช้าวันถัดไป

 

วันที่ 7 อำลาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

และแล้วก็มาถึงเช้าวันสุดท้ายที่พวกเราจะได้ใช้ชีวิตในทุ่งใหญ่ฯครับ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย จากผู้คนหลากหลายที่เราได้พบเจอ จุดประสงค์แรกเริ่มเราเพียงแค่อยากมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้ที่กำลังดูแลผืนป่ามรดกของพวกเรา แต่ผลลัพธ์ที่พวกเราได้รับกลับเป็นความรื่นเริงทางจิตใจอย่างมากมายที่หาที่เปรียบไม่ได้ และยากที่จะลืมเลือน

 

IMG_4296

20140427_065559

20140427_102345

 

หลังจากกินข้าวเช้าเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่พวกเราทั้งหมดจะต้องแยกย้ายกัน กลุ่มพี่ๆคนอาสาเพื่อแผ่นดิน พี่รินกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และ พวกเราใบไม้.org ก็ต้องแยกจากกันชั่วคราวในที่นี้ จนกว่าจะได้พบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ เมื่อกำลังจะก้าวผ่านประตูเขตไปพวกเราก็ต้องขอเก็บภาพความประทับใจสุดท้ายไว้ ณ จุดนี้

 

 

ลาก่อนแค่ขั่วคราว แล้วพวกเราจะกลับมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร…

 


ขอบคุณที่ติดตามครับ โอกาสหน้าหากมีอะไรน่าสนใจพวกเราจะนำมาถ่ายทอดกันใหม่ให้ทุกคนได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ไปด้วยกัน จนกว่าจะพบกันใหม่ สำหรับตอนนี้สวัสดีครับ