3 ความเชื่อที่ทำให้คนไม่เห็นคุณค่าในงานดิจิตอล

สวัสดีครับ ในยุคปัจจุบันโลกออนไลน์ สื่อดิจิตอล โซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีต่างๆมาตอบสนองทุกความต้องการของเราถึงหน้าประตูบ้านจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตไปซะแล้ว ด้วยความสะดวกสบายความง่ายนี่เองที่ทำให้เรามองไม่เห็นถึงมูลค่าเบื้องหลังของสิ่งที่ได้รับมา วันนี้ลองมาวิเคราะห์กันดูว่าทำไมสิ่งที่สร้างมูลค่าได้มากมายมหาศาลถึงกลับกลายเป็นสิ่งไร้มูลค่าสำหรับบางคนไปซะได้ มาติดตามไปพร้อมๆกันครับ


โลกดิจิตอล

ยุคที่การสื่อสารเฟื่องฟู การส่งผ่านข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็วข้อมูลทุกรูปแบบส่งถึงมือเราได้แทบจะในทันที ต้องการข้อมูลอะไรก็ค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้เราเคยชิน หลังจากได้ลองพิจารณาถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ราวๆร้อยแปดสิ่งก็ได้ข้อสรุปถึงค่านิยมผิดๆ 3 อย่างดังนี้

 

1. ชิ้นงานด้านดิจิตอลเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่มีราคา

ไม่ว่าจะเป็นซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชั่นมือถือ เพลง mp3 หรืองานกราฟฟิคดีไซน์ ทุกชนิด ล้วนเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มีนักธุรกิจหลายท่านที่ยังยินดีจะจัดพิมพ์โบรชัวร์มูลค่าหลายแสน แต่ไม่ยอมจ่ายค่าโฆษณาเพียงแค่หลักพันบน Google ทั้งที่กลุ่มลูกค้าก็เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะความเคยชินกับระบบการโฆษณาแบบเก่า และอีกส่วนหนึ่งเพราะการพิมพ์โบรชัวร์เราได้สิ่งของชิ้นงานมาจริงๆ จับต้องได้ แต่การทำโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตนั้นจับต้องไม่ได้ ถึงจะวัดผลการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอจะโน้มน้าวให้ค่านิยมนี้หมดไป

 

2. งานฝีมือไม่ถือเป็นมูลค่า ตรรกะปัญญาเป็นแค่เรื่องรอง

สืบเนื่องจากการที่ไม่เห็นคุณค่าของชิ้นงานดิจิตอลเพราะจับต้องไม่ได้แล้วนั้น กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งแต่ละชิ้นงานยิ่งเป็นเรื่องที่โดนมองข้าม ในวงการงานด้านดิจิตอล คนจะเริ่มสนใจในมูลค่าของงานต่อเมื่อมันเสร็จแล้ว และประเมินจากตรงนั้นแทน เมื่อเห็นงานอยู่ตรงหน้าก็จะนึกย้อนไปถึงกระบวนการผลิต คิดเอาเองว่ามันไม่ยาก ประเมินราคาแบบผิวเผิน และไม่ให้เกียรติผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานในการกำหนดราคา ลองนึกถึงว่าเราเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วไปต่อราคาค่าหน่วยกิต หรือไปคลินิคหมอฟันแล้วขอลดราคาค่าขูดหินปูน ซึ่งแน่นอนเราไม่ทำกันเพราะเราให้เกียรติในความรู้ของครูบาอาจารย์ และทันตแพทย์ แต่เรากลับเลือกที่จะมองข้ามความเชี่ยวชาญของนักพัฒนาสื่อดิจิตอลไปเสียได้

 

3. ทุกสิ่งในอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี ปัญหาลิขสิทธิ์ไม่เคยมีจริง

ฝันร้ายอย่างนึงของนักสร้างสรรค์ชิ้นงานดิจิตอลคือการละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อเราอยู่ในยุคของการ like and share สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติไป ทำกันจนติดเป็นนิสัย พอเจ้าของชิ้นงานออกมาเรียกร้องกลับโดนตราหน้าว่าเป็นคนแล้งน้ำใจ ไม่รู้จักแบ่งปัน กลับกันตอนที่เค้าลำบากสร้างชิ้นงานนั้นขึ้นมาไม่ยักกะมีคนช่วย (อนึ่งต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าทรัพย์สินทางปัญญาทุกชิ้นงานนั้นได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายทันทีที่สร้างขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนหรือดำเนินการทางกฎหมายใดๆครับ)  เมื่อการละเมิดลิขสิทธิและการส่งต่อชิ้นงานกลายเป็นเรื่องง่าย คนเลยยิ่งมองไม่เห็นถึงมูลค่าของงานดิจิตอลยิ่งกว่าเดิม

 

และนี่ก็คือ 3 สิ่งหลักๆที่ทำให้คนไม่เห็นมูลค่าของงานด้านดิจิตอลครับ แต่ถึงยังไงตอนนี้เราก็ได้เข้ามาอยู่ในโลกยุคดิจิตอลกันอย่างเลี่ยงไม่ได้แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หรือการให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันครับ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น แล้วมันจะส่งผลดีมาถึงตัวเราเอง

ขอบคุณที่ติดตามครับ สวัสดีครับ 🙂